วันลอยกระทงนี้มีความเชื่อว่าอย่างไรนะ?

ประเพณีลอยกระทงนี้เป็นประเพณีที่ชาวบ้านตั้งแต่ยุคโบราณกาลปฏิบัติสืบต่อกันมาทีเดียวค่ะ พิธีลอยกระทงมักจะกระทำกันในคืนวันเพ็เดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นคืนที่พระจันทร์จะเต็มดวงพอดีและมีน้ำอยู่เต็มตลิ่งนั่นเอง นอกจากนั้น ประเทศอื่น ๆ ได้แก่ จีน อินเดีย เขมร ลาว และพม่า ยังได้ร่วมสืบทอดประเพณีลอยกระทงนี้อีกด้วย แต่รูปแบบของงานอาจแตกต่างกันไปได้ในแต่ละท้องที่

แล้วความสำคัญของการลอยกระทงนี้มันคืออะไรกันล่ะ?

เนื่องจากตั้งแต่สมัยอดีตกาล การเกษตรกรรมและกสิกรรมมีความสำคัญมาก เป็นอาชีพของชาวบ้าน แม่น้ำเป็นสิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน เพื่อเป็นการตอบแทนพระแม่คงคาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย หรือเพื่อเป็นการขอขมา ที่ชาวบ้านได้ทิ้งสิง่ปฏิกูลลงไป ชาวบ้านจึงได้จัดพิธีลอยกระทงขึ้น และหลังจากเสร็จการลอยกระทงแล้ว ชาวบ้านมักจะจัดงานรื่นเริงและสังสรรค์กันต่อยามค่ำคืน

กระทง=ขยะ?

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมานี้ ปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้หลายคนหันกลับมามองว่า แล้วการลอยกระทงนั้นยังจำเป็นอยู่จริง ๆ ไหม? เนื่องจากเวลาที่เราลอยกระทงลงไปในแม่น้ำ หลายครั้งเกิดกองขยะมหึมา บางคนจึงมองว่า การขอบคุณหรือขอขมาพระแม่คงคามีวิธีที่ดีกว่า เช่น การช่วยกันเก็บขยะริมคลอง ช่วยกันรณรงค์ไม่ทิ้งขยะในแม่น้ำต่าง ๆ แต่บ้างก็มองว่า ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน เป็นวัฒนธรรมอันดีงามของไทย และการลอยกระทงก็จัดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น จึงไม่น่าที่จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้

กระทงทางเลือก ตอบโจทย์ความ eco-friendly

หลายปีที่ผ่านมา มีไอเดียที่จะใช้วัสดุจากธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้ง่าย มาทำเป็นวัสดุสำหรับลอยกระทง เช่น กระทงขนมปัง ที่ได้ทั้งลอยกระทงและเป็นอาหารให้ปลาในแม่น้ำ, กระทงน้ำแข็ง เพียงแค่เอาขันใส่น้ำ แช่ตู้เย็นทิ้งไว้ วันต่อมาเราก็พร้อมออกไปลอยกระทงแล้ว และเมื่อลอยเสร็จก็ไม่มีขยะเหลืออยู่ในแม่น้ำเลย หรือหลาย ๆ คนอาจจะเลือกลอยกระทงออนไลน์ก็ได้เช่นกัน สามารถทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน เป็นต้น

แล้วเพื่อน ๆ ล่ะคะ คิดว่าวิธีไหนเหมาะสมที่สุดในการลอยกระทงปีนี้? ?